วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กรรม 12

กรรม 12

                ในตอนนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้รายละเอียดแห่งกรรมจึงขอกล่าวถึงกรรม 12 ซึ่งจัดตามหน้าที่จัดจามแรงหนักเบาและจัดตามกาลที่ให้ผล เมื่อทราบคำจำกัดความของกรรมประเภทต่าง ๆ แล้ว ผู้อ่านบางท่านอาจเข้าใจได้เลย บางท่านอาจยังไม่เข้าใจ ท่านที่ยังไม่เข้าใจก็อย่างเพิ่งใจร้อน ทำใจเย็น ๆ ไว้ก่อนและขอให้อ่านต่อไป จะเข้าใจได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

กรรมจัดตามหน้าที่มี 4

1.       ชนกกรรม กรรมที่ก่อให้เกิดหรือส่งให้เกิดในกำเนิดต่าง ๆ เปรียบเสมือนมารดาของทารก ชนก - กรรมนี้เป็นผลของอาจิณณกรรมบ้างของอาสันนกรรมบ้าง
2.       อุปถัมภกกรรม กรรมอุปถัมภ์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงนางนม มีทั่งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี
3.       อุปิฬกกรรม กรรมบีบคั้น มีหน้าที่บีบคั้นกรรมดีหรือชั่วให้เพราะลง
4.       อุปฆาตกรรมหรืออุปัจเฉทกรรม กรรมตัดรอน มีหน้าที่ตัดรอนกรรมทั่งฝ่ายกุศลและอกุศล

กรรมจัดตามแรงหนักเบามี 4

1.       ครุกรรม กรรมหนัก ฝ่ายดีหนมายถึงฌาณ วิปัสสนา มรรค ผล ฝ่ายชั่วหนมายถึงอนันตริกรรม 5 คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ทำสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน
2.       อาติณณกรรมหรือพหุลกรรม กรรมที่ทำจนเคยชินหรือทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก
3.       อาสันนกรรม- กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอาจภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนี้เป็นอารมณ์ เมื่อจวนตาย
4.       กตัตตากรรมหรือตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือทำโดยไม่เจตนา

กรรมจัดตามกาลที่ให้ผลมี 4

1.       ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม- กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
2.       อัปัชชเวทยีกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน
3.       อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลหลังจาก อุปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลเรื่อยไปสบโอกาสเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น
4.       อโหสิกรรม กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน

รายละเอียดของกรรม 12

เมื่อกรรมนำไปปฏิสนธิในภพใหม่ คือ คนที่ทำกรรมดีไว้ย่อมไปเกิดในภพที่ดี คนทำกรรมชั่ว
ไว้มากไปเกิดในภพที่ชั่วกรรมที่ส่งให้เกิดนั้นเรียกว่า ชนกกรรม (ชนก = ให้เกิด) สมมติว่าชนกกรรมฝ่ายดีส่งเขาให้เกิดในตระกูลที่ดี มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินสมบัติและบริวาร มีตระกูลสูง เขาเกิดเช่นนั้นแล้วไม่ประมาท หมั่นหาทรัพย์เพิ่มเติม รักษาทรัพย์เก่าให้มั่นคง มีความเคารพนบนอบต่อผู้ควรเคารพ ถนอมน้ำใจบริวารด้วยการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ พูดจาไพเราะ ทำประโยชน์ให้และวางเหมาะสม การกระทำเช่นนั้นเป็นอุปถัมภกกรรม ช่วยส่งเสริมผลของกรรมดีเก่า รวมกับกรรมใหม่ ทำให้เขามั่งคั่งมากขึ้นมีบริวารดีมาขึ้น
                ตรงกันข้ามถ้าเขาได้ฐานะเช่นนั้นเพราะกุศลกรรมในอนาคตส่งผลให้แล้ว เขามัวเมาประมาท ผลาญทรัพย์สินด้วยอบายมุขนานาประการ มีเกียจคร้านทำการงานและคบมิตรเลวเป็นต้น กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นอุปปีฬก กรรมบีบคั้นเขาให้ต่ำต้อยลงจนสิ้นเนื้อประดาตัว บริวารก็หมดสิ้นถ้าเขาทำชั่วมากขึ้นกรรมนั้นจะกลายเป็นอุปฆาตกรรม ตัดรอนผลแห่งกรรมดีเก่าให้สิ้นไป กลายเป็นคนล่มจมสิ้นความรุ่งเรืองในชีวิต
                อีกด้านหนึ่งสมมติว่า บุคคลผู้หนึ่งเกิดมาลำบากยากเข็ญ ขันสนทั้งทรัพย์และบริวาร รูปร่างผิวพรรณก็ไม่งามเพราะอกุศลกรรมในชาติก่อน หลอมตัวเป็นชนก กรรมฝ่ายชั่ว เมื่อเกิดมาแล้วเขาประกอบกรรมชั่วซ้ำเข้าอีก กรรมนั้นมีสภาพเป็นอุปถัมภกกรรม ช่วยสนับสนุนกรรมเก่าให้ทวีแรงขึ้น ทำให้ฐานะของเขาทรุดหนักลงไปกว่าเดิม
                แต่ถ้าเขาผู้เกิดมาต่ำต้อยเช่นนั้นแล้ว ไม่ประมาทอาศัยความเพียรพยายามในทางที่ชอบ ถือเอาความอุตสาหะเป็นแรงหนุนชีวิตรูจักคบมิตรดี กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นปุปฬกกรรม - บีบคันผลของอกุศลกรรมเก่าให้เพลากำลังลง เขามีความเพียรในทางที่ชอบมากขึ้น ขวนขวายในทางบุญกุศลมากขึ้นกรรมของเขาแปรสภาพเป็นอุปฆาตกรรมหรืออุจเฉทกรรมตัดรอนผลแห่งอกุศลกรรมเก่าให้ขาดสูญ จนในที่สุดเขาเป็นคนตั้งต้นได้ดี มีหลักฐานมั่นคง
                ที่กล่าวมานี้ คือ กรรมที่จัดตามหน้าที่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า หน้าที่ของกรรม ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ให้เกิดอุปถัมภ์บีบคั้นและตัดรอน
                ส่วนกรรมที่ให้ผลและแรงหนักเบาของกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กันมาก คือ กรรมหนัก (ครุกรรม) ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว จะให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น (ทิฆฐธัมมเวทนีย์) ส่วนกรรมที่เป็นอาจิณหรือพหุกรรมนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสให้ผลในชาติปัจจุบัน ก็จะยกยอดไปให้ผลในชาติถัดไป (อุปัชชเวทนีย์) และชาติต่อๆ ไป (อปราปรเวทนีย์) สุดแล้วแต่โอกาสที่ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนี้อทัน เมื่อใดกัดเมื่อนั้น
                กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต (อาสันนกรรม) นั้น มักให้ผลก่อนกรรมอื่น เพราะจิตไปหน่วงอารมณ์นั้นไว้แน่นไม่ว่าเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว กรรมนั้นใกล้จุติจิตและใกล้ปฏิสนธิจิต ท่านว่าแม้บางคราวจะมีกำลังน้อยก็ให้ผลก่อนกรรมอื่นเปรียบเหมือนรถติดไฟแดง เมื่อไฟเขียวอันเป็นสัญญาณให้รถไปได้เปิดขึ้น รถคันหน้าแม้มีกำลังวิ่งน้อยก็ออกได้ก่อน พอผ่านสี่แยกไปแล้ว รถที่มีกำลังดีกว่าย่อมแซงขึ้นหน้าไปได้
                ในตำรา ท่านเปรียบผลของอาสันนกรรมว่า เหมือนวัวที่ขังรวมกันอยู่ในคอ รุ่งเช้ามารอกันอยู่ที่ประตูคอก พอนายโคบาล (คนเลี้ยงโค) เปิดประตูคอก วัวตัวใดอยู่ใกล้ประตูที่สุดจะเป็น แม่โค ลูกโค หรือโคแก่ก็ตามย่อมออกมาได้ก่อน แต่เนื่องจากกำลังเพลา พอออกมาในที่โล่งแล้ว วัวตัวใดมีกำลังมาก วัวนั้นย่อมเดินขึ้นหน้าไป ผลของอาสันนกรรมให้ผลก่อนก็จริง แต่ให้ผลในระยะสั้นเมื่อสิ้นแรงของอาสันนกรรมแล้วก็เป็นโอกาสของอาจิณณกรรมหรือพหุลกรรม คือ กรรมที่คนทำจนเคยชินทำจนเป็นนิสัย
                ส่วนกรรมที่ทำโดยไม่เจตนาที่เรียกว่า กตัตตากรรมหรือกตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำให้ผลน้อยที่สุด กำลังเพลาที่สุด เมื่อกรรมอื่นไม่มีจะให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผลเป็นเหมือนหนี้รายย่อยที่สุด
                กรรมใดคอยโอกาสให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสเลยจึงเลิกแล้วต่อกันไม่ให้ผลอีก กรรมนั้นเรียก อโหสิกรรม เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไปหรือถูกคั่วให้สุกด้วยไฟเสียแล้วไม่มีโอกาสงอกขึ้นได้อีก (เรื่องนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมตอนที่ว่าด้วย กรรมจะหยุดให้ผลด้วยเหตุ 3 ประการข้างหน้า)
                กรรมเป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก แต่ผู้มีปัญญาก็พอตรองตามให้เห็นจริงได้ เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ยากเกินไป จนตรองตามด้วยปัญญาแล้วก็ไม่เห็นและไม่ง่ายเกินไปจนไม่ต้องตรองตามก็เห็นได้
                กรรมบางอย่างบุคคลทำโดยไม่เจตนาก็จริง แต่ก่อผลสุขและทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้ผู้ทำกรรมเช่นนั้นย่อมได้รับผลย่อมได้รับผลตอบแทนมาในทำนองเดียวกัน คือ ได้รับสุขหรือทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นโดยปราศจากเจตนาของผู้อื่น เช่น การยิงนกแต่ไปถูกคนเข้าหรือเขายิงคนอื่นแต่ไพล่ไปถูกอีกคนหนึ่ง โดยเหตุบังเอิญ นี้เป็นผลแห่งกตัตตากรรม
                บุคคลผู้หนึ่งโยนก้อนหินลงไปทางหน้าต่าง บังเอิญก้อนหินนั้นไปถูกคนหนึ่งเข้า หัวแตกกรรมของเขาเป็นกตัตตากรรม เมื่อถึงคราวที่กรรมนี้จะให้ผล ย่อมให้ผลในทำนองเดียวกัน
                ในฝ่ายดี เช่น บุคคลผู้หนึ่งเอาของเหลือไปเททิ้งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใคร แต่บังเอิญสุนัขมาอาศัยกินรอยชีวิตไปได้กรรมนั้นของเขาเป็นกตัตตากรรม เมื่อถึงคราวเขาจะได้รับผลแห่งกรรมนั้นย่อยได้รับในทำนองเดียวกัน
                จริงอยู่พระพุทธองค์ตรัสว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ = ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นว่าเป็นกรรมนั้นหมายเอากรรมอื่นทั้งปวง ยกเว้นกตัตตากรรม

กฏแห่งกรรม

กฎแห่งกรรม

                หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า บุคคลทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาย่อมต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นแต่เนื่องจากกรรมบางอย่างหรือการกระทำบางคราวไม่มีผลปรากฏชัดในทันที ผู้มีปัญญาน้อยจึงมองไม่เห็นผลแห่งกรรมของตน ทำให้สับสนและเข้าใจไขว้เขว เพราะบางทีกำลังทำชั่วอยู่แท้ ๆ มีผลดีมากมาย เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ตรงกันข้ามบางคราวกำบังทำความดีอยู่อย่างมโหฬาร แต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานต่าง ๆ มีผลไม่ดีมากมาย เช่น ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้ายถูกสบประมาท และความเจ็บไข้ได้ป่วยหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต
                ความสลับซับซ้อนดังกล่าว ทำให้ผู้รับผลของกรรมสับสน เกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความชั่วจริง ๆ หรือ ?
                ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมชั่วที่เขากำลังทำอยู่ยังไม่ทันให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ก่อนถึงวาระให้ผลในขณะที่คนผู้นั้นกำลังทำชั่วอยู่ จึงทำให้เขาได้รับผลดีถ้าเปรียบทางวัตถุก็จะมองเห็นง่ายขึ้น เช่นคน ๆ หนึ่งกำลังปลูกต้นไม้อันเป็นพิษอยู่ มีผลไม้หอมหวานอร่อยสุกมากมายในสวนของเขา  เขาได้ลิ้มรสอันอร่อยของผลไม้ซึ่งเขาปลูกไว้ก่อน ต่อมาต้นไม้มีพิษออกผลในขณะที่เขากำลังปลูกต้นไม้ที่มีผลอร่อยอยู่ เขาบริโภคผลไม้มีพิษ รู้สึกได้รับทุกเวทนาข้อนี้ฉันใด กรรมกับผู้กระทำกรรมก็ฉันนั้น กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว แต่เพราะกรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกเต็มที่แล้ว (Maturation) และมีความสลับซับซ้อนมาก จึงทำให้งง ทั้งนี้ สามเหตุหนึ่งก็เพราะสติปัญญาของคนทั่วไปมีอยู่อย่างจำกัดมาก เหมือนแสงสว่างน้อย ๆ ไม่พอที่ส่องให้เห็นวัตถุอันสลับซับซ้อนอยู่มากมายในบริเวณอันกว้างใหญ่และบริเวณนั้นถูกปกคลุมอยู่ด้วยความมืด เมื่อใดดวงปัญญาของเขาแจ่มใสขึ้น เขาย่อมมองเห็นตามเป็นจริง ปัญญาของเขายิ่งแจ่มใสขึ้นเพียงใดเขาย่อมสามารถมองเห็นเรื่องกรรมและความสบับซับซ้อนของชีวิตมากขึ้นเพียงนั้น เหมือนแสงสว่างมีมากขึ้นเพียงใด ผู้มีจักษุปกติย่อมสามารถมองเห็นวัตถุอันละเอียดมากขึ้นเพียงนั้น
                สิ่งใดที่ละเอียดมาก เช่น จุลินทรีย์ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์เขาใช้เครื่องมือคือกล้องจุลทรรศน์ซึ่งมีอานุภาพขยายเป็นพัน ๆ เท่าของวัตถุจริง จึงทำให้มองเห็นได้ สิ่งใดอยู่ไกลมากระยะสายตาธรรมดาไม่อาจทอดไปถึงได้นักวิทยาศาสตร์เขาใช้กล้องส่องทางไกล จึงสามารถมองเห็นได้เหมือนวัตถุซึ่งปรากฏอยู่ ณ ที่ใกล้ข้อนี้ฉันใด
                ผู้ได้อบรมจิตและปัญญาแล้วก็ฉันนั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิต สามารถเห็นได้ละเอียดรู้ได้ไกลซึ่งเรื่องกรรมและผลของกรรม ชนิดที่สามัญชนมองไม่เห็นหรือมองให้เห็นได้โดยยาก ทั้งนี้ เพราะท่านมีเครื่องมือคือปัญญาหรือญาณสามัญชนไม่มีปัญญาหรือญาณเช่นนั้นจึงมองไม่เห็นอย่างที่ท่านเห็น เมื่อท่านบอกให้บากคนก็เชื่อตาม บางคนไม่เชื่อ ใครเชื่อก็เป็นประโยชน์แก่เขาเองทั่งด้านการดำเนินชีวิตและจิตใจ หาความสุขได้เอง
                ผู้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กำไรกว่าผู้ไม่เชื่อคือทำให้เว้นชั่ว ทำดีได้มั่นคง ยั่งยืนกว่าผู้ไม่เชื่อ ทำให้เป็นคนดีในโลกนี้ จากโลกนี้ไปแล้วก็ไปบีนเทิงในโลกหน้าเมื่อประสบปัญหาชีวิตอันแสบเผ็ดก็สามารถทำใจได้ว่า มันเป็นผลของกรรมชั่วเมื่อประสบความรื่นรมย์ในชีวิตก็ไม่ประมาท มองเห็นผลแห่งกรรมดีและหาทางพอกพูนกรรมดีต่อไป

                เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง แต่ที่คนส่วนมากยังลังเลหรือเข้าใจผิดไปบ้างก็เพราะความสลับซับซ้อนของกรรมและการให้ผลของมัน การได้ดีหรือได้ชั่วนั้น ถ้าเอาวัตถุภายนอกเป็นเครื่องตัดสินก็ลำบากหน่อย ต้องรอคอยบางทีขณะที่กำลังรอคอยอยู่นั้น ผลของกรรมอื่นแทรก แซงเข้ามาเสียก่อน ยิ่งทำให้ผู้ทำกรรมซึ่งกำลังรอคอยผลอยู่นั้นงงและไขว้เขวไปใหญ่
               
ผลภายนอกและผลภายใน
ผลภายนอก คือ ผลที่ตนเองและคนอื่นมองเห็นได้ง่ายอย่างธรรมดาสามัญ เพราะมันมาเป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งสมมติ เช่น ลาภยศ สรรเสริญ ความเพลิดเพลินความมีหน้ามีตาในสังคมเพราะมีทรัพย์เกื้อหนุนให้เป็นหรือในทางตรงกันข้าม เช่น เสื่อมทรัพย์ อัปยศ ถูกนินทา ติเตียน มีความทุกข์ต่าง ๆ รุมสุมเข้ามาเช่นความเจ็บป่วย ความต้องพลัดรากจากปิยชนมีบุตร ภรรยา (สามี) เป็นต้น
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น คนทั้งหลายพากันฝังใจเชื่อว่าเป็นผลดีหรือผลของกรรมดี ส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาติเตียนและทุกข์นั้นเป็นผลชั่วหรือผลของกรรมชั่ว แต่ในชีวิตปัจจุบันที่เห็น ๆ กันอยู่หาได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่   ลาภอันให้เกิดขึ้นโดยทุจริต มิจฉาชีพก็ได้ โดยสุจริต สัมมาชีพก็ได้ ยศอาจเกิดขึ้น โดยประจบสอพลอก็ได้ โดยการประกอบการงานอย่างขยันมั่นเพียรก็ได้ สรรเสริญอาจเกิดขึ้นเพียงเพราะผู้สรรเสริญเข้าใจผิดหรือเพราะเป็นพวกเดียวกันมีอคติอยู่ในใจก็ได้เพราะมีคุณความดีจริง  ก็ได้ส่วนความสุข ความเพลิดเพลินนั้นเกิดขึ้นได้หลายวิธี สุดแล้วแต่ชอบ บุคคลชอบสิ่งใดเมื่อได้สิ่งนั้นตามปรารถนาก็รู้สึกสุข เพลิดเพลินไปพักหนึ่ง เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่สมใจปรารถนาก็เป็นทุกข์
ในฝ่ายเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ ก็มีนัยเดียวกันกับฝ่ายลาภ ยศ คืออาจเกิดขึ้นเพราะการทำดีหรือทำชั่วก็ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ทำความดีโดยการบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณกุศลเป็นจำนวนล้าน ทรัพย์นั้นของเขาต้องลดจำนวนลง จะเรียกว่าเสื่อมลาภไม่ คนทำความดีอาจถูกถอดยศก็ได้ เมื่อทำไม่ถูกใจของผู้มีอำนาจให้ยศหรือถอดยศ คนทำดีอาจถูกติเตียนก็ได้ ถ้าคนผู้ติเตียนมีใจไม่เป็นธรรม หรืออคติจงใจใส่ร้ายเขา คนทำดีอาจต้องประสบทุกข์ได้เพราะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำและความเจ็บใจ เช่น ความลำบากกายลำบายใจในการเลี้ยงดูบุตรและสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี ซึ่งท่านเรียกว่า ความทุกข์ที่ต้องลงทุน (Per-payment)
ผลภายนอกเป็นของไม่แน่นอนอย่างนี้ ถ้าถือเอาผลภายนอกมาเป็นเครื่องตัดสินผลของกรรมย่อมทำให้สับสนเพราะบางคราวผลที่เกิดขึ้นสมแก่กรรม แต่บางคราวไม่สมแก่กรรมเท่าที่บุคคลพอจะมองเห็นได้ในระยะสั้น
ส่วนผลภายใน คือ ผลที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ทำเป็นผลที่แน่นอนกว่า คือ คนทำความดี รู้สึกตนว่าได้ทำความดีจิตใจย่อมผ่องใสขึ้น จิตสูงขึ้น ส่วนคนทำชั่วรู้สึกตนว่าเป็นคนทำชั่ว จิตย่อมเศร้าหมองไป อาการที่จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วนั้นเองเป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว สุขทุกข์ของบุคคลอยู่ที่อาการเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของดวงจิตมากกว่าอย่างอื่น ทรัพย์สิน สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ จะได้มามากเพียงใดก็ตาม ถ้าใจเศร้าหมอง ทุรนทุรายอยู่ด้วย โลภ โกรธหลงอยู่เสมอแล้ว สิ่งเหล่านั่นหาสามารถให้ความสุขแก่เจ้าของเท่าที่ควรไม่ ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งให้ทุกข์เดือดร้อนเสียอีก ผู้มีใจผ่องแผ้วเต็มที่ เช่น พระอรหันต์ แม้ไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกที่ชาวโลกกรหายใด ๆ เลยแต่ท่านมีความสุขมากเป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์               

ความจริงของชีวิต

ความจริงของชีวิต
(หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด)
เรื่องสำคัญยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาคือเรื่องหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The Law of Karma and Rebirth
ความเข้าใจเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ทุกแง่ทุกมุม ทำให้ไม่ต้องน้อยใจในชะตาชีวิตของตนและไม่ริษยาความสุขของผู้อื่น เพราะได้เห็นแจ้งแล้วว่า ความสุขทุกข์ รุ่งเรือง หรือล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนนี้เป็นผลรวมแห่งกรรมของตน หรือกรรมแห่งหมู่คณะของตนเป็นต้น
เรื่องกรรม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ความแตกต่างกันในเรื่องอุปนิสัยใจคอของคน แม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกันและมีมารดาบิดาเดียวกัน ได้รับการอบรมอย่างเดียวกัน  
ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเรื่องกรรม ทำให้บุคคลมีน้ำอดน้ำทน มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ท้อถอย มีความเพียรสั่งสมกรรมดีขยาดต่อกรรมชั่ว ไม่ตีโพยตีพายเมื่อผิดหวัง และไม่ระเริงหลงในเมื่อประสบผลดี เราะมารู้แจ้งว่าผลทุกอย่างย่อมมีมาเพราะเหตุ
เรื่องกรรมช่วยให้บุคคลกล้าเผชิญชีวิตอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถมองเห็นแง่ดีแม้ของความผิดหวัง หรือส่งที่เรียกกันว่าโชคร้าย เพราะแจ่มแจ้งว่า มันเป็นการใช้หนี้กรรมอย่างหนึ่ง ทำให้เรือชีวิตเบาขึ้น ทำให้แล่นไปข้างหน้าได้รวดเร็วขึ้น เหมือนบุคคลมีหนี้สิน เมื่อได้ใช้หนี้ไปเสียบ้าง ย่อมทำให้สบายใจขึ้น เบาใจขึ้น
หลักกรรมจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการเกิดใหม่หรือการเวียนว่ายตายเกิด เพราะมีปัญหาชีวิตหลายอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ ถ้าปราศจากการเวียนว่ายตายเกิดหรือที่เรียกว่า สังสารวัฏเช่นปัญหาเรื่องคนดีบางคนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน และคนชั่วบางคนมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญเป็นต้น ปัญหานี้จะเป็นเรื่องค้างโลกถ้ากฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่ไม่เข้ามาช่วยแก้
อนึ่ง ช่วงชีวิตเพียงช่วงเดียวของบุคคลสั้นเกินไปไม่เพียงพอพิสูจน์กรรมที่บุคคลทำไว้แล้วได้ทั้งหมด การเกิดใหม่จะช่วยอธิบายกรรมในอดีตของคนได้อย่างดีที่สุด ดังนั้นชีวิตมนุษย์จึงเป็นสนามหรือเวทีสำหรับทดลองแรงกรรม ว่าใครได้ทำกรรมอะไรไว้มา น้อย เบาบาง หรือรุนแรงเพียงใด
                ด้วยประการฉะนี้ การศึกษาให้รู้แจ้งในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีผลเป็นความสุข สงบแก่ผู้ศึกษาเรียนรู้ มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงขึ้นร่มเย็นและทำให้เห็นว่าการเกิดของเรามีความหมาย ไม่ใช่เกิดมาโดยบังเอิญ มีชีวิตอยู่อย่างหลักลอยปล่อยตัวและตายไปอย่างน่าสมเพชเวทนา
                เรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดทำให้บุคคลหายงมงายหายตื่นเต้นต่อความขึ้นลงของชีวิต ช่วยคลี่คลายความข้องใจในความสับสนของชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ความเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิตของตนเองจะได้ดีขึ้นและทำผู้ใกล้ชิด เช่น บุตรหลาน หรือบริวารชนให้มีความเข้าใจในปัญหาชีวิตของตน
                ครู ผู้สอนวิชาศาสนาหรือวิชาอื่นใดก็ตามควรย้ำให้นักเรียนเข้าใจและเชื่อมั่นในเรื่องหลักกรรมและสังสารวัฎเพราะอันนี้คือพื้นฐานอันจะทำให้ศีลธรรมมั่นคงในจิตใจของเยาวชนเหล่านั้น
                ต่อไปนี้เป็นพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 แห่งบรมจักรีวงศ์)
สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าสิ่งที่เราควรจะสอนให้เข้าใจแลบะให้เชื่อมั่นเสียตั้งแต่ต้นทีเดียวคือสิ่งที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา นั่นคือ วัฏฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดและกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาเพราะหนทางปฏิบัติของพุทธศาสนาก็เพื่อให้พ้นจากวัฏฏสงสาร อันเป็นความทุกข์แต่สิ่งที่ดีประเสริฐยิ่งนั้นคือความเชื่อในกรรม แต่จะสอนแต่เรื่องกรรมอย่างเดียว ไม่สอนเรื่องวัฏฏสงสารด้วยก็ไม่สมบูรณ์
                ความเชื่อในกรรม ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่งควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในกรรมแล้ว มนุษย์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมดีโดยหวังผลที่ดี เรื่องวัฏฏสงสารและกรรมนี้เป็นของต้องมีความเชื่อ เพราะเป็นของที่น่าเชื่อกว่าความเชื่ออีกหลายอย่าง
                ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ถ้าคนเราเชื่อกรรมจริง ๆ แล้ว ควรจะได้ความสุขใจไม่น้อย โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกท้อถอยอย่างไร
                ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรพยายามสอนเด็กให้เชื่อมั่นในกรรมเสียแต่ต้นทีเดียว ยิ่งให้เชื่อได้มากท่าไรยิ่งดี ควรให้ฝังเป็นนิสัยทีเดียว

ธรรมชาติของการฟังดนตรี



                เมื่อพูดถึงดนตรีแล้ว ดนตรีเป็นศิลปะที่เสียเปรียบศิลปะแขนงอื่น ๆ เมื่อนำมาพูดหรือนำมาเขียนเพราะดนตรีเป็นเรื่องของหู สื่อกันทางหู ความไพเราะของคนตรีขึ้นอยู่กับหู และหูเป็นอวัยวะที่สำคัญชิ้นเดียวที่จะส่งการรับรู้ทางดนตรีไปยังจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึกก็แล้วแต่ การพูดหรือเขียนถึงดนตรีนั้นอาศัยอวัยวะส่วนอื่น ๆ จากตาหรือสัมผัส ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบย่อย ๆ เท่านั้นไม่สามารถเข้าถึงดนตรีได้ถ้าปราศจากหู แต่อวัยวะส่วนอื่นจะได้รับผลประโยชน์ เป็นผลพลอยได้จากดนตรีด้วยหลังจากที่หูได้รับรสของดนตรีแล้ว เพราะคนหูหนวกไม่สามารถซาบซึ้งโดยการรับฟังดนตรีได้ (เว้นไว้แต่คนหูดีอยู่ก่อน เรียนรู้รับฟังดนตรีมาแล้วหูหนวกที่หลังนั้นก็ยังสามารถจินตนาการเสียงดนตรีโดยไม่อาศัยการฟังจากภายนอก อย่างเช่นเบโธเฟนแต่งซิมโฟนีหมายเลย 9 ขณะที่หูหนวกไปแล้ว)
            ด้วยเหตุที่ว่าหูของคนเรานั้นเปิดอยู่ตลอดเวลา หูไม่สามารถเลือกฟังเองได้ จิตต่างหากที่ทำหน้าที่กลั่นกรองเสียงที่ได้ยินว่าพอใจหรือไม่พอใจต่อเสียงใด ความพอใจต่อเสียงของจิตที่ได้ยินจากหูเป็นความไพเราะทั้งที่เป็นดนตรีและไม่เป็นดนตรี แต่ความสดใสไพเราะที่เป็นดนตรีนั้นเป็นศิลปะที่อาศัยความสะอาดของจิตเป็นพื้นฐานและในขณะเดียวกัน เสียงที่ไม่ไพเราะจิตจะไม่พอใจ เสียงเหล่านั้นเป็นเสียงสร้างความรำคาญและความไม่พอใจของจิต ความรำคาญสืบเนื่องมาจากเสียงขาดศิลปะในการปรุงแต่งให้สวยสดงดงาม ขาดคุณสมบัติในการสร้างความเพลิดเพลิน
            อย่างไรก็ตาม ก็พอมีหลักการในการฟังดนตรีอยู่บ้าง ที่สามารถเรียนรู้ด้วยอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่นอกไปจากหู แต่หลักการเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางในการฟังเท่านั้น ความไพเราะจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังจริง ๆ ทางหูโดยตรง
            เราจะเริ่มฟังดนตรีกันอย่างไร ถ้าเราจะจัดลำดับก่อนหลังในการรับรสความไพเราะโดยอาศัยดุริยางควิทยาแล้ว ก็พอจะจัดลำดับของการฟังได้ดังนี้ คือ ฟังเสียง ฟังจังหวะ ฟังทำนอง ฟังเนื้อร้อง ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน ฟังสีสันแห่งเสียง ฟังรูปแบบของคีตลักษณ์ ฟังอย่างวิเคราะห์ และฟังเพื่อประโยชน์ของชีวิต
            โดยทั่วไปการฟังดนตรี เริ่มจากง่ายไปสู่การฟังที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งพอจะจัดลำดับได้ ดังนี้
            1. ฟังเสียง (sound) รอบ ๆ ตัวเราประกอบไปด้วยเสียง หนวกหูบ้างไม่หนวกหูบ้าง เสียงที่เกิดขึ้นทุกชนิดจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าหูของเรานั้นเปิดอยู่ตลอดเวลา เสียงเหล่านั้นที่เกิดขึ้นจะผ่านหูเราไป รับรู้บ้าง ไม่รับรู้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ลมพัด ฟ้าร้อง น้ำตก หรือเสียงที่มนุษย์ทำขึ้น เสียงรถยนต์ นกหวีด ตอกตะปู ฯลฯ หูจะเรียนรู้เสียงเหล่านั้นทุกแห่งที่ได้ยิน จะพอใจหรือไม่พอใจ น่าฟังหรือไม่น่าฟังนั้นเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ภายหลัง เด็กแรกเกิดจะเรียนรู้เรื่องเสียง เด็ก ๆ จะมีความสนใจต่อเสียงแปลกใหม่ ความแปลกใหม่ของเสียงสามารถสร้างความสนใจ และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของเด็กได้ ดนตรีประกอบด้วยเสียงเหล่านี้ เพียงแต่เสียงเหล่านี้ไม่ถูกจัดระบบให้มีระเบียบเท่านั้นเอง การฟังเสียงนก เสียงกา การตีเกราะ เคาะไม้ ฟังเสียงนกหวีดของจราจร หูของเราจะทนฟังอยู่ได้ไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นเพราะความไม่มีศิลปะ ไม่มีระเบียบของเสียงประการหนึ่ง และเสียงไม่สามารถท้าทายต่อการฟังอีกต่อไป และไม่ช้าไม่นานเสียงเหล่านั้นจะกลายเป็นเสียงรบกวนไป
            2. ฟังจังหวะ (rhythm time) จังหวะเป็นการเอาเสียงมาจัดระบบระเบียบให้คล้องจองกัน เอาฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้อง กลอง ตะโพน มาเคาะให้เป็นจังหวะความแปลกหูเกิดขึ้นทำให้น่าฟัง เช่น กลองยาว ดนตรีที่รับลำตัด ฉิ่ง  ฉาบ กลองชุด กลองพาเหรด หรือแม้แต่เสียงนกหวีดที่เป่าสำหรับเดินสวนสนาม เป็นต้น กลุ่มเสียงเหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นจังหวะ
            จังหวะเป็นเรื่องของความรู้สึกช้า-เร็ว ให้อารมณ์ครึกครื้น อับเฉา ชุ่มฉ่ำ เป็นต้น จังหวะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก โดยเฉพาะทางร่างกาย ความตื่นเต้นเร้าใจต่อจังหวะที่ได้ยิน ฟังแล้วเนื้อเต้นจังหวะมักถูกนำไปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรมในสังคมมนุษย์ก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิต ความรู้สึก ปลุกวิญญาณความเป็นชาตินิยม ฯลฯ จังหวะมักจะเร่งเร้าให้ร่างกายแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อจังหวะที่ได้ยิน เพลงของวัยรุ่นเน้นจังหวะสนุกสนานเป็นสำคัญ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าจังหวะมีผลต่อความรู้สึกทางกายมาก วัยรุ่นจะสนุกเพลิดเพลินกับจังหวะที่ได้ยิน จิตใจจะถูกจูงให้คล้อยตามจังหวะไป
            จังหวะเป็นเรื่องของเวลา การเคลื่อนที่ของเวลา การรับรู้ว่าเวลาผ่านไปเกี่ยวข้องกับจังหวะการเคลื่อนที่ของเสียงที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสั้น ยาว ถี่ยิบ หรือห่าง ๆ จังหวะของการเคลื่อนที่ของรถไฟกำลังออกจากสถานี กำลังวิ่งเต็มแรง หรือกำลังวิ่งเข้าสู่สถานี ค่อย ๆ ถี่ขึ้น ๆ ความถี่สม่ำเสมอค่อย ๆ ช้าลง ๆ เป็นความรู้สึกบอกถึงความหมายว่ารถไฟกำลังจะออก-วิ่ง-หรือกำลังจะจอดสถานี ดังนั้น ความถี่ความห่างของเสียงจึงเป็นเรื่องของเวลา
            จังหวะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของธรรมชาติ ทุกอย่างมีจังหวะควบคุม การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล กลางวัน กลางคืน ความเป็น ความตาย เป็นธรรมชาติที่ประกอบขึ้นด้วยจังหวะ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สัดส่วนของอาคาร สถาปัตยกรรม ความสมดุลของสรรพสิ่ง ภาพวาด ท่าทางที่ร่ายรำ ลีลาของฉันทลักษณ์ แม้แต่ลีลาของชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับจังหวะทั้งสิ้น
            จังหวะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของดนตรี ความเร้าใจของจังหวะสร้างความครึกครื้นให้เราอยากแต้นรำเคาะจังหวะตาม กระดิกเท้า โยกตัว พยักหน้า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของร่างกายที่ตอบสนองต่อจังหวะ การฟังดนตรีนั้นเริ่มมาจากได้ยินเสียงแล้วผนวกเป็นกระสวนของจังหวะ
            3. ฟังทำนอง (melody) ลำดับต่อมาของการฟังคือฟังทำนอง ทำนองเป็นรูปร่างหน้าตาภายนอก เป็นโครงสร้างบอกถึงขอบเขตความสูงต่ำของเสียง การฮัมเพลง การผิวปาก การร้องเพลงเป็นการนำแนวทำนองมาใช้ ทำนองจะให้อารมณ์

ชัดเจนกว่าจังหวะ ให้ความรู้สึกลึกลงถึงจิตใจมากกว่าส่วนของจังหวะ แต่ในขณะเดียวกันในทำนองมีจังหวะรวมอยู่ด้วย
            แนวทำนองเป็นการเคลื่อนไปของเสียงที่อาศัยระดับความสูงต่ำ ความสั้นยาว ความดังเบาของเสียงเป็นองค์ประกอบ
ตัวอย่าง โครงสร้างแนวทำนองเพลงลาวดวงเดือน
                                                    ดวง



                                                           
                                           หนอ              เดือน
                                   ละ                                                              
                                                                                                      เอย
                  โอ้
            เส้นแสดงโครงสร้างแนวทำนองเพลงลาวดวงเดือน

            แนวทำนองเป็นการนำเสียงสูงต่ำ สั้นยาว ดังเบามาปะติดปะต่อกัน แนวทำนองเป็นเนื้อหาหลักของดนตรี แนวทำนองเปรียบเสมือนเค้าโครงเรื่องว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร การนำเสียงแต่ละเสียงมาปะติดปะต่อกันเป็นทำนองเพลง แต่ละเสียงจะมีความสัมพันธ์กัน ความเป็นเอกภาพของกลุ่มเสียงหรือที่เรียกว่า วลีเพลง ประโยคเพลงที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง การผิวปากหรือฮัมเพลง เป็นการสร้างทำนองหรือจำทำนองแล้วนำมาประดับอารมณ์เมื่อต้องการ
  4. ฟังเนื้อร้อง (text) หลังจากการฟังเสียง จังหวะ ทำนองแล้ว เรามุ่งฟังเนื้อร้อง เนื้อเรื่องหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเพลง ผู้ฟังจำนวนมากมุ่งฟังดนตรีเพื่อให้รู้เรื่อง ตัวดนตรีเองนั้นไม่เป็นเรื่อง แต่เนื้อร้องหรือเรื่องที่เกี่ยวกับเพลงสามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง บางครั้งดูเหมือนว่าเนื้อร้องหรือเรื่องเป็นหัวใจของเพลงเสียด้วยซ้ำไป
5. ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน (harmony) การเรียบเรียงเสียง คือการนำเอาเสียงมาจัดระบบ เอาเสียงมาซ้อนกันประสานกันตามกฎเกณฑ์ของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่นิยมกัน เสียงประสานจะเป็นตัวที่ช่วยอุ้มเสียงดนตรีให้มีพลังทางอารมณ์เสียงประสานของดนตรีเป็นองค์ประกอบภายในที่ละเอียดอ่อนที่ช่วยเกื้อหนุนความงามของบทเพลง
  6. ฟังสีสันแห่งเสียง (tone colour) เป็นการฟังสีของเสียงว่ามีคุณภาพอย่างไร ศิลปะมีสีขาวเป็นพื้นก่อนที่ระบายสี ส่วนดนตรีมีความเงียบเป็นพื้น สีสันแห่งเสียงถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยที่เราไม่รู้ตัว การที่เรารู้ว่าใครพูดในขณะที่เรายังไม่เห็นตัว เพราะหูของเราสามารถจำแนกสีเสียงที่ได้ยินว่าแต่ละเสียงแตกต่างกันอย่างไร บางครั้งแม้แต่เสียงเดินของแต่ละคนก็สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร คนตาบอดอาศัยความแตกต่างของสีเสียงในการจำบุคคล ละครวิทยุอาศัยสีเสียงในการสร้างตัวละครว่าเสียงใดเป็นเสียงพระเอก เสียงใดเป็นเสียงตัวโกง หรือเสียงใดควรเป็นเสียงคนใช้ เรามักจะได้ยินคำว่าน้ำเสียง ซึ่งมักใช้กับผู้ประกาศวิทยุและโทรทัศน์ น้ำเสียงเป็นเรื่องสำคัญที่คำนึงถึง ผู้ที่ได้รับเลือกไปเป็นผู้ประกาศเพราะเป็นผู้ที่น้ำเสียงดีน้ำเสียงก็คือเสียงที่มีคุณภาพนั้นเอง
7. ฟังรูปแบบของเพลง (form) รูปแบบหรือโครงสร้างของเพลงเป็นการฟังดนตรีอย่างภาพรวม ๆ ทั้งหมด การที่เราจะรู้ว่าลักษณะอย่างไรเป็นผู้หญิง ลักษณะอย่างไรเป็นผู้ชาย ผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกันอย่างไรนั้นอาศัยโครงรูปแบบเป็นหลักดนตรีก็เช่นเดียวกัน เพลงท่อนเดียว 2 ท่อน 3 หรือ 4 ท่อน บรรเลงเดี่ยว หรือบรรเลงเป็นวง สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างและรูปแบบของดนตรี เพลงตับ เพลงเถา เพลงเรื่อง โซนาตา คอนแชร์โต ซิมโฟนี เพลงแต่ละบทจะไม่เหมือนกัน
            การเรียนรู้โครงสร้างของบทเพลงจากตำราเรียนนั้นเป็นแต่เพียงโครงสร้างอย่างคร่าว ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้นเพลงแต่ละบทมีความแตกต่างกัน รูปแบบของบทเพลงแต่ละบทเป็นเอกลักษณ์จำเพาะของบทนั้น ๆ
            การฟังดนตรีก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้เค้าโครงใหญ่ รู้เค้าโครงย่อย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้โดยการฟัง
            8. ฟังอย่างวิเคราะห์ (analysis) การฟังอย่างวิเคราะห์นั้นเป็นการฟังเพื่อหารายละเอียดของผลงานชิ้นนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร มุ่งวิเคราะห์ในรายละเอียด เช่น เสียงสูง ต่ำ ดัง เบา หนา บาง เป็นต้น โดยอาศัยหลักการทฤษฎีทางดนตรี ความรู้ ความเข้าใจบวกกับประสบการณ์ ฟังอย่างนักฟัง นักดนตรี นักเรียนดนตรี นักวิจารณ์ กรรมการตัดสินการประกวดดนตรี แต่ละฝ่ายก็มีเกณฑ์ในการฟังที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการฟัง
การฟังดนตรีอย่างวิเคราะห์นั้นไม่ได้มุ่งเพื่อความเพลิดเพลินแต่อย่างใด แต่เป็นการฟังโดยมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ฟังเพื่อจะวิเคราะห์ว่าเป็นผลงานของใคร สมัยใด ใช้เครื่องดนตรีอะไรในการบรรเลง แต่งในรูปแบบใด การประสานเสียงเป็นอย่างไร เป็นต้น
           
9. ฟังเพื่อสุนทรียะ (aesthetic) การฟังดนตรีเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งเป็นประโยชน์ของชีวิต เป็นการฟังที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เพราะการฟังประเภทนี้เป็นเรื่องของผู้ที่จะเลือกบริโภคให้เหมาะสมกับตน ผู้ฟังอาจจะมีความพอใจอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว เพียงความสุขส่วนตัวที่จะเลือกฟังในสิ่งที่ตนชอบโดยอาศัยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด

การสร้างประสบการณ์ทางดนตรี

การสร้างประสบการณ์ทางดนตรี

 
                ดนตรีเป็นสุนทรียะหรือที่เรียกกันว่า ความงาม ความไพเราะ เป็นเรื่องของนามธรรมยากที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยภาษาเพราะแต่ละคนจะมีรสนิยมในเรื่องของความงามที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจะมีอิทธิพลต่อความชอบ ความรัก ความไพเราะ ความงาม ที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ถึงแม้ว่าสุนทรียะทางดนตรีเป็นเรื่องนามธรรมเกิดขึ้นจำเพาะตัวบุคคลแต่เราสามารถสร้างประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ได้
            ขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางสุนทรียะที่ควรคำนึงถึง คือ
            1. ความตั้งใจจดจ่อ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องผนวกความตั้งใจจดจ่อต่อศิลปะ หรืออาจจะพูดอีกแง่หนึ่งว่าต้องมีความศรัทธาต่องานศิลปะ ความตั้งใจจดจ่อหรือความศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงงานศิลปะ และในทำนองเดียวกันความไม่ตั้งใจไร้ศรัทธาเป็นการปิดกั้นสุนทรียะของศิลปะตั้งแต่แรกเริ่ม การฟังดนตรีด้วยความตั้งใจจดจ่อ ฟังด้วยความศรัทธา โอกาสที่จะตอบสนองต่อเสียงดนตรีที่ได้ยินมีสูงทั้งทางร่างกายและทางความรู้สึก การที่ได้ยินเสียงดนตรีตามภัตตาคารต่าง ๆ ในระหว่างการรับประทานอาหารหรือเสียงดนตรีในงานเทศกาลต่าง ๆ เสียงดนตรีเหล่านั้นได้ยินผ่าน ๆ หูเราไปโดยมิได้ตั้งใจฟัง ซึ่งไม่สามารถสร้างความงามทางสุนทรียะให้เกิดขึ้นได้ สุนทรียะทางศิลปะเน้นความรู้สึกทางจิตมากกว่าความรู้สึกทางกาย
            ตัวอย่างการไปชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวเช่น หนังผีเรารู้ว่าเป็นหนังผีเกี่ยวข้องกับความกลัว แต่เราก็ยังอยากดูและได้เตรียมตัวกลัวจากบ้านไปดูหนังผี คือมีความศรัทธาในความกลัวผีก่อนที่จะดูหนัง ในขณะที่เราดูหนังเราก็จินตนาการว่าจะต้องมีผีอยู่ทุกขณะจิต ความเงียบ ความวังเวง ความมืด เสียงระฆังจากโบสถ์หรือเสียงต่ำ ๆ ของเสียงดนตรี ช่วยสร้างบรรยากาศของความกลัวมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีผู้ชมเต็มโรงหนัง เราก็มีความรู้สึกว่าเราอยู่โดดเดี่ยวเผชิญกับผี แม้กระทั่งเพื่อนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ สะกิดให้ตื่นจากภวังค์ เราก็เข้าใจเอาว่าผีสะกิดด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเราได้สร้างความตั้งใจกลัว ศรัทธาในความกลัวไว้ก่อนแล้ว
            2. การรับรู้ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยการรับรู้ การรับรู้ เป็นความรู้ที่จะรู้ว่าสิ่งนั้น ๆ คืออะไร คุณภาพดีไหม และมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่เรื่องของความจำหรือการจินตนาการ การรับรู้เป็นการรวบรวมความรู้สึกทั้งภายนอกและภายในที่มีผลต่อสิ่งเร้า แล้วเอามาสร้างเป็นความคิดรวบยอดต่องานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสามารถแยกออกเป็นขั้นตอนได้ว่าเป็นความรู้สึก การรับรู้ และการหยั่งรู้หรือการสร้างมโนภาพ
            การรับรู้ทางดนตรีนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะการรับรู้ทางดนตรีไม่สามารถอ่านได้จากภาษาเหมือนวรรณคดี หรือสามารถดูได้ด้วยตาแบบภาพวาด แต่การรับรู้ทางดนตรีต้องอาศัยจากการฟังเสียงเพียงอย่างเดียว จะฟังดนตรีให้รู้เรื่องไม่ได้ เพราะดนตรีไม่เป็นเรื่อง การรับรู้ทางดนตรี จึงต้องฟังว่าอะไรเกิดขึ้นในเพลง จะอาศัยให้ใครบอกไม่ได้ ต้องรับรู้ด้วยตนเอง
            3. ความประทับใจ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความกินใจหรือประทับใจในการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น อารมณ์ที่กระทบต่องานศิลปะสามารถแยกออกเป็นสองขั้นตอนด้วยกันคือ สภาพของจิตที่เปลี่ยนไปกับความรู้สึกที่สนองต่อจิต ซึ่งเกิดขึ้นตามในลำดับต่อมา เช่น ความดันเลือดในร่างกายเปลี่ยนแปลงให้หน้าแดง หน้าซีด การหายใจถี่แรง หรือการถอนหายใจ ความรู้สึกโล่งอกหรืออัดแน่น รู้สึกง่วงนอนหรือกระปรี้กระเปร่า สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่มีผลมาจากแรงกระทบทางอารมณ์ทั้งสิ้น
ความกินใจต่อเหตุการณ์และเสียงที่ได้ยิน ทั้งเหตุการณ์และเสียงที่กินใจจะจารึกจดจำไว้ในสมอง ถ้าโอกาสหวนกลับมาอีก ความกินใจที่เคยจดจำไว้ก็จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอีก การที่เราเคยได้ยินเสียงดนตรีในงานศพของคนที่เราเคารพรักและหวงแหน หรือในขณะที่เราอยู่ในอารมณ์เศร้า เรามักจะจำเหตุการณ์วันนั้นและเสียงเพลงที่ได้ยินอย่างแม่นยำ
            4. ความรู้ ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความรู้ การเรียนรู้ของคนอาศัยประสบการณ์ สุนทรียะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจเป็นประสบการณ์ที่สามารถแยกแยะหรือวิเคราะห์ การนำมาปะติดปะต่อหรือการสังเคราะห์การสรุปรวบยอด การจัดหมวดหมู่หรือแม้การประเมินผล สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจ เป็นตัวสำคัญ
            ตัวอย่างเช่น การไปเดินที่ศูนย์การค้าได้มีโอกาสเห็นเสื้อหลาย ๆ ตัว หลาย ๆ ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่จะเลือกเฟ้นเสื้อตัวที่สวยที่สุด จากเสื้อที่เราเลือกแล้วซึ่งเป็นเสื้อที่สวยและพอใจจนซื้อมาใช้ เสื้อหลาย ๆ ตัวเหล่านั้นก็ยังมีเสื้อที่เราชอบที่สุดอีกเพียงไม่กี่ตัว โดยมีข้อมูลอื่น ๆ มาพิจารณา เช่น เหมาะสมกับโอกาสที่จะใส่ วัยของผู้ใช้ เป็นต้น
            ในแง่สุนทรียะของดนตรีนั้น การฟังมาก ๆ เป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการที่ยกระดับสุนทรียะของแต่ละคน เพราะสุนทรียะเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่จะต้องสร้างด้วยตนเอง การไม่มีประสบการณ์ในการฟังดนตรีเปรียบเสมือนผู้ที่เดินหลงทางไม่รู้ว่าจะไปทิศทางใด การแก้ปัญหาคือเลือกสักหนึ่งทางแล้วเดินไป อาศัยเวลา ประสบการณ์ระหว่างทางเป็นองค์ประกอบบอกให้เราทราบว่าหลงทางหรือถูกทาง ในทำนองเดียวกันการฟังดนตรีทุกชนิดจะเป็นตัวบอกให้เราทราบว่าดนตรีชนิดใดที่เราชอบและจากดนตรีที่เราชอบเหล่านั้นจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่สุนทรียะในที่สุด
            5. ความเข้าใจวัฒนธรรม ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความเข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะนั้น ๆ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการที่เราเข้าใจวัฒนธรรมเป็นผลให้เราเข้าใจศิลปะอีกโสตหนึ่งด้วยเพราะ ศิลปะของชนกลุ่มใดย่อมเหมาะกับชนกลุ่มนั้น
            อย่างวัฒนธรรมในการกิน เราอาจจะสงสัยว่าฝรั่งกินแฮมเบอร์เกอร์ ขนมปังทาเนย จะอยู่ท้องได้อย่างไร ในทำนองเดียวกันกับฝรั่งก็สงสัยเราว่ามีน้ำพริกอยู่ถ้วยหนึ่ง ผักอยู่จานหนึ่งแล้วมีคนนั่งล้อมรอบ ๆ 4-5 คน ข้าวคนละจานกินอะไรกัน จะมีอาหารพอกินหรือ คำถามทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอกับคนต่างถิ่น แต่ผู้กินเองมีความอร่อยกับอาหารของตัวเอง แต่ในทางตรงข้าม การไปกินอาหารต่างวัฒนธรรมกลับทำให้รู้สึกกินไม่อิ่ม กินไม่ถูกปาก ฯลฯ การกินเป็นวัฒนธรรมที่ต้องอาศัยประสบการณ์สั่งสมประสบการณ์และนิสัยของการกินเป็นเวลานาน จนเกิดความเคยชินและติดเป็นนิสัย จุดความ อร่อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเคยชินและประสบการณ์
            การฟังดนตรีให้เกิดความงามทางสุนทรียะ ต้องอาศัยความเคยชิน ประเพณีนิยม วัฒนธรรมของกลุ่มคนนั้น ดนตรีในหัวใจของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันคนถีบสามล้ออาจจะมีเสียงเฟืองล้อกระทบกับโซ่สายพานเป็นซิมโฟนีของเขา คนอยู่ริมทะเลจะมีเสียงลมเสียงคลื่นขับกล่อม หรือคนที่มีบ้านใกล้ทางรถไฟไม่ได้ยินเสียงรถไฟแล้วนอนไม่หลับ เสียงเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเคยชินจนกลายเป็นซิมโฟนีในหัวใจของแต่ละคน การที่เราได้ยินได้ฟังลาวดวงเดือนทั้งทางตรง ทางอ้อม ฉบับย่อ ขยายดัดแปลง ทุกวันจนเกิดความเคยชิน ย่อมเข้าใจลาวดวงเดือนมากกว่าคอนแชร์โตของโมสาร์ต เบโธเฟน ซึ่งได้ฟังเป็นครั้งแรก ผลก็คือความซาบซึ้งทางสุนทรียะย่อมแตกต่างกัน
            การสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วทั้ง 5 ประการ ศิลปะทุกแขนงที่สร้างขึ้นโดยศิลปิน ศิลปินเองก็ต้องอาศัยองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน ในการสร้างงานศิลปินเปรียบเสมือนเครื่องส่งวิทยุ ผู้ฟังผู้ชมเป็นเครื่องรับวิทยุ อย่างไรก็ตามทั้งศิลปินและผู้ฟังผู้ชมต้องมีคลื่นวิทยุที่มีความถี่ตรงกันจึงจะรับได้ ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องส่งและเครื่องรับ แต่ถ้าความถี่คลื่นไมตรงกันก็ไม่สามารถที่จะรับได้
            ดนตรีเป็นศิลปะที่มีความงาม ความละเอียดอ่อน ที่จะต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ที่จะเข้าถึง ได้รับสุนทรียรส ทุก ๆ คนมีโอกาสมีสิทธิที่จะเข้าถึงความงามอันนั้น เพราะความงามมีอยู่แล้วในตัวแต่ละคน เพียงแต่ว่าความงามอันนั้นจะถูกขัดเกลาและนำมาใช้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น

คุณค่าของสุนทรียศาสตร์

คุณค่าของสุนทรียศาสตร์

          สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม และความไพเราะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องการ จริง ๆ แล้ว สุนทรียะยังหมายรวมถึงคุณสมบัติที่สามารถรับรู้ของหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจพึงปรารถนา นอกจากความสวยและความงามที่ใช้ดูด้วยตาเป็นสื่อ ยังมีความไพเราะที่ต้องฟังด้วยหู กลิ่นหอมที่ต้องดมด้วยจมูก รสชาติที่ต้องชิมด้วยลิ้น การสัมผัสที่จะต้องใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องใช้จิตใจเป็นความรู้สึกในการรับรู้
            สุนทรียะจะต้องมีสื่อเพื่อที่จะช่วยให้คนได้รับรู้ ปราศจากสื่อก็คือการปราศจากการรับรู้ ไม่มีสื่อเสียแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะชื่นชมงานศิลปะใด ๆ ได้ คนตาบอดไม่สามารถชื่นชมความสวยงามได้ฉันใด คนหูหนวกก็ไม่สามารถชื่นชมเสียงดนตรีที่ไพเราะฉันนั้น
            ดนตรีเป็นสุนทรียะที่เกี่ยวข้องกับเสียง ดนตรีเกี่ยวข้องกับความไพเราะ เมื่อพูดถึงดนตรีแล้วก็หมายถึงความไพเราะ แต่ยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกว่า เป็นความไพเราะของใคร เพราะว่าแต่ละคนรับรู้ความไพเราะที่แตกต่างกันคนละระดับกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน คนจึงฟังดนตรีกันหลากหลายต่างชนิดกัน ชื่นชอบเพลงไม่เหมือนกัน
            ความรู้สึกของคำว่า รักคุณเท่าฟ้าทุกคนรู้โดยรวม ๆ ว่าฟ้านั้นกว้าง แต่ความกว้างของฟ้าของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ฟ้าเป็นโลกทัศน์ของแต่ละคน ฟ้าเป็นความรู้สึกที่มั่นคงยิ่งใหญ่และฟ้าเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นละเอียดอ่อน
            ทุกคนรู้สึกว่า เหงา  อธิบายไม่ได้แต่รู้สึกได้ คำว่า เหงาของบางคนมีความหมายเล็กเกินไปกว่าความเหงาจริง เพราะรู้สึกว่าเราเหงามากกว่านั้น เหงาเหงาเหงาจะเขียนอีกสักกี่ตัว คำหรือภาษา ก็ยังเล็กไปสำหรับความรู้สึกที่มีความเหงาจริง
            ความรู้สึกปีติ ความอิ่มเอิบ ความภูมิใจ เมื่อได้พบกับความสวยงาม ความงาม ความไพเราะ ได้พบกับบรรยากาศ รสนิยม และคุณค่าที่ดี ความรู้สึกปีติเป็นพลังกายในที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับจิตใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นคนไปดูหนังผี เป็นสุนทรียะที่เกิดขึ้นจากความกลัว ที่จริงแล้วคนดูหนังได้เตรียมตัวกลัวผีไปจากบ้านแล้ว ถ้าหนังผีสามารถสร้างความกลัวให้กับผู้ชมได้ถึงใจ คือ สร้างให้ผู้ชมเกิดความกลัวได้ ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แต่ถ้าหากว่าภาพยนตร์ไม่สามารถทำให้ผู้ชมกลัวได้ คือไม่น่ากลัว หนังผีเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากดู เพราะหัวใจของหนังผีก็คือการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้ชม

ดนตรีในความหมายของสุนทรียศาสตร์

          ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ของดนตรีเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับเสียงลักษณะและคุณภาพของเสียง หนา-บาง สูง-ต่ำ ดัง-เบา สั้น-ยาว เล็ก-ใหญ่ ฯลฯ แหล่งกำเนิดเสียง คุณสมบัติของเสียง ศาสตร์เป็นความรู้ที่สามารถสืบทอดการเรียนรู้โดยการอ่านบอกเล่า ถ่ายทอดสู่กันฟัง การสืบค้นคว้าจากหลักฐานต่าง ๆ ความรู้สามารถคิดหาเหตุผลมาประติดประต่อได้ ความรู้สามารถเรียนรู้ได้โดยการจดจำ ท่องบ่น ทบทวน และที่สำคัญก็คือความรู้สามารถเรียนทันกันหมด ความรู้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
            การ ทรงจำดนตรี เอาไว้โดยการท่องบ่นแบบนกแก้วนกขุนทอง เป็นแต่เพียงคุณค่าของศาสตร์เท่านั้น การท่องบ่นเป็นการทำซ้ำ ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ได้ ขาดความมีชีวิตชีวา รวมทั้งความรู้รอบ ๆ ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง กิตติศัพท์ เกียรติคุณ เป็นแต่เพียงแต่องค์ประกอบนอกเหนือดนตรีทั้งสิ้น
            สุนทรียะเป็นเรื่องของศิลป์ ดนตรีเป็นศิลปะของการเรียบเรียงเสียง นำเอาเสียงที่มีความสูง-ต่ำ สั้น-ยาว หนา-บาง ดัง-เบา มาต่อกันโดยอาศัยความรู้ การนำเสียงมาต่อกันให้มีศิลปะ จึงจะเกิดเป็นความไพเราะขึ้น ถ้านำเสียงเอามาต่อกันแล้วไม่มีศิลปะก็ไม่เป็นดนตรี กลายเป็นเสียงอื่น ๆ ไป
            ความไพเราะของเสียงดนตรีเป็นสุนทรียะ สืบทอดโดยการเล่าสู่กันฟังอย่างความรู้ไม่ได้ อ่านความไพเราะไม่ได้ ท่องจำความไพเราะไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ความไพเราะของดนตรีจะต้องสัมผัสด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์ตรงเท่านั้น
            การสัมผัสความไพเราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะคนไม่เกี่ยวกับวัย ไม่เกี่ยวกับวุฒิ ไม่เกี่ยวกับปัญญา ไม่เกี่ยวกับปรัชญา แต่ความไพเราะอยู่นอกเหนือปรัชญาและปัญญา